ผาชูธง ผาแก่งลาด สำนักอำนาจรัฐ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
อ.นครไทย จ.พิษณุโลก (ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้ออุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้านี้มีด้วยกันทั้งหมด 5 หน้า ท่านสามารถ click link ชื่อสถานที่ท่องเที่ยวในอุทยานฯ ทางด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
3. ผาชูธง เป็นหน้าผาสูงชันอยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 500 เมตร ทางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้ามีการสร้างบันไดไม้เอาไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นสู่ผาชูธงได้อย่างสะดวกสบาย ในอดีต พคท.เคยใช้หน้าผาแห่งนี้เป็นที่ชูธงสัญลักษณ์ค้อน – เคียวเพื่อส่งข่าวสาร แต่ปัจจุบันมีการตั้งธงชาติไทยเอาไว้บนหน้าผาแทนธงสัญลักษณ์ของ พคท.เรียบร้อยแล้ว
|
ในที่สุด "ธงชาติไทย" ก็มีชัยเหนือ "ธง พคท." |
|
หมอกจาง ๆ กลางผืนป่าใต้แผ่นฟ้า "ผาชูธง" |
ผาชูธงเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่มีความสวยงาม สามารถมองเห็นทัศนียภาพโดยรอบได้ถึง 360 องศา ในช่วงปลายฤดูฝน – ฤดูหนาว นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยจะยอมตื่นตั้งแต่รุ่งสางแล้วเดินทางมายังผาชูธงแห่งนี้เพื่อรอชมความงดงามของทะเลหมอกในยามเช้า ภาพของสายหมอกสีขาวบางเบาซึ่งแผ่ขยายปกคลุมไปทั่วผืนป่าสีเขียวขจีเบื้องล่างเป็นสิ่งที่ทำให้ใครต่อใครหลาย ๆ คนตั้งใจอดทนลุกขึ้นจากที่นอนพร้อม ๆ กับถ่างตาฝ่าความยากลำบากออกมาเก็บเกี่ยวช่วงเวลาแห่งความประทับใจนี้เอาไว้ในเลนส์กล้องและความทรงจำ
|
..........อาทิตย์อัสดง ลงตรงหน้า.......... |
|
ได้เวลากลับที่พักกันแล้วนา.....อย่ามัวแต่บ้าแอคชั่น ! |
เนื่องจากผาชูธงตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของภูหินร่องกล้า ในยามเย็นหน้าผาแห่งนี้จึงกลายเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงไม่แพ้ลานหินปุ่ม นักท่องเที่ยวที่เลือกพักค้างแรมบนภูหินร่องกล้าตั้งแต่ 2 คืนขึ้นไปอาจจะเลือกเดินทางมาเฝ้ารอชมความงดงามของอาทิตย์อัสดงยามย่ำสนธยา ณ ลานหินปุ่มในวันแรก แล้วจึงมาเก็บภาพบรรยากาศที่แตกต่าง ณ ผาชูธงในวันที่สองหรือวันถัด ๆ ไปก็ได้ (ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่าให้เลือกชมพระอาทิตย์ตกบริเวณ “ลานหินปุ่ม” หรือ “ผาชูธง” ก่อนในลำดับแรก และหากยังมีเวลาอยู่บนภูหินร่องกล้าเหลือมากพอก็ค่อยไปชมพระอาทิตย์ตกบริเวณ “ลานหินแตก” เป็นลำดับสุดท้ายจะดีที่สุด)
|
จุดชมทิวทัศน์ "ผาแก่งลาด" |
|
เพียงเดินจากผาชูธงมาไม่เกิน 5 นาที ก็จะได้เห็นภาพงาม ๆ แบบนี้แล้ว
|
|
..........แมกไม้ชายเขา.......... |
บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติซึ่งเชื่อมต่อระหว่างสำนักอำนาจรัฐ – ผาชูธง – ลานหินปุ่ม ยังมีจุดชมทิวทัศน์ริมหน้าผาที่นักท่องเที่ยวสามารถเก็บภาพสวย ๆ ได้อีกแห่งอยู่บริเวณ “ผาแก่งลาด” (มีป้ายบอกตำแหน่ง “ผาแก่งลาด” ปักเอาไว้ให้เห็นได้ชัดเจน) แม้ว่าหน้าผาแห่งนี้จะไม่ได้มีจุดน่าสนใจใด ๆ โดดเด่นแต่หากว่าคุณต้องการหามุมสงบ ๆ นั่งเล่นริมหน้าผาในบรรยากาศที่ยากจะหาคนมารบกวน ก็ควรลองแวะมาผาแก่งลาดดูสักนิด บริเวณหน้าผาแห่งนี้สามารถชมพระอาทิตย์ตกได้สวยงามเช่นเดียวกันกับ “ผาชูธง” และ “ลานหินปุ่ม”
4. สำนักอำนาจรัฐ เป็นสถานที่ที่ฝ่าย พคท.ใช้เป็นศูนย์บัญชาการด้านการทหาร – การปกครอง คล้ายกับศาลากลางจังหวัด ภายในบริเวณมีการสร้างอาคารไม้ขึ้นหลายหลังเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย โรงประกอบอาหาร โรงทอผ้า สถานที่ฝึกอบรม และคุกสำหรับผู้กระทำผิด นอกจากนี้ยังมีการสร้างครกกระเดื่องเอาไว้สำหรับตำข้าวให้สมาชิก พคท.หุงรับประทานอีกด้วย
|
เส้นทางสู่ "สำนักอำนาจรัฐ" และ "ที่หลบภัยทางอากาศ" |
|
1.ครกกระเดื่องตำข้าว 2.กระท่อมปีกไม้ 3.โถงถ้ำซึ่งใช้เป็นที่หลบภัยทางอากาศ |
5. ที่หลบภัยทางอากาศ เพียงแค่เดินไปตามป้ายบอกทางจากสำนักอำนาจรัฐอีกไม่เกิน 150 เมตร นักท่องเที่ยวจะได้พบกับโถงถ้ำขนาดใหญ่ซึ่งฝ่าย พคท.เคยใช้เป็น “ที่หลบภัยทางอากาศ” ในอดีตเมื่อผู้บังคับบัญชาประจำวันของฝ่าย พคท.ได้ยินเสียงเครื่องบินก็จะเป่านกหวีดเรียกรวมพลให้สมาชิกเก็บสิ่งของต่างๆ ซึ่งอาจตกเป็นเป้าสายตาของเครื่องบินแล้วทยอยกันเดินมายังที่หลบภัย สำหรับที่หลบภัยทางอากาศของฝ่าย พคท.นี้มีอยู่ด้วยกัน 2 จุดใหญ่ ๆ โดยจุดแรกตั้งอยู่ใกล้กับสำนักอำนาจรัฐ ส่วนจุดที่สองนั้นตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2331 เยื้องกับโรงเรียนการเมืองทหาร สำหรับที่หลบภัยทางอากาศจุดที่สองนี้จะมีทางเดินลัดเลาะไปตามซอกหินและโพรงผาค่อนข้างซับซ้อนมากกว่าจุดแรก ที่หลบภัยทางอากาศนี้สามารถจุสมาชิก พคท.ได้ประมาณ 500 คน
|